สำหรับสาเหตุของฟันสึกมักเกิดจากแรงบดเคี้ยวที่ผิดปกติ เช่น ชอบกินอาหารแข็ง กัดน้ำแข็ง หรือนอนกัดฟันรุนแรง นอกจากนี้การกินอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด จำพวกอาหารรสเปรี้ยว น้ำอัดลม ไวน์ และการแปรงฟันที่ผิดวิธี แปรงฟันแรง ๆ หรือใช้แปรงสีฟันที่มีขนแข็ง ก็ทำให้เคลือบฟันสึกได้เช่นกัน
ลักษณะการสึกของฟันที่พบบ่อย ๆ มี 2 ด้านคือ ด้านบดเคี้ยว และด้านแก้มที่บริเวณคอฟัน การสึกของฟันด้านบดเคี้ยวมักจะพบในฟันกราม ส่วนฟันสึกบริเวณคอฟันมักพบบ่อยที่ฟันกรามน้อยและฟันเขี้ยว เพราะเป็นตำแหน่งที่สัมผัสกับแปรงสีฟันได้ง่าย โดยอาการเสียวฟันจะเริ่มขึ้นเมื่อผิวเคลือบฟันสึกหายไปจนถึงชั้นของเนื้อฟัน และหากปล่อยให้ฟันสึกต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงชั้นโพรงประสาทฟันจะทำให้มีอาการปวดฟันตามมา
วิธีการป้องกันฟันสึกที่ดีที่สุด คือ พยายามลดความถี่และปริมาณการกินของขบเคี้ยวที่มีผลต่อการสึกของฟัน รวมถึงพยายามฝึกแปรงฟันให้ถูกวิธี โดยใช้ขนแปรงอ่อนนุ่ม เอียงแปรงสีฟัน ประมาณ 45 องศากับตัวฟัน แล้วกดแปรงเบา ๆ ลงที่แนวเหงือกโดยวิธีขยับ-ปัด ฟันบนปัดลงล่าง ฟันล่างปัดขึ้นบน ทำซี่ละ 8-10 ครั้ง ระวังการแปรงฟันตามขวางตัวฟันแรง ๆ เพราะจะทำลายผิวเคลือบฟัน และอาจทำให้เหงือกเป็นแผลได้
การแก้ไขกรณีที่ฟันสึกไม่มาก และมีอาการเสียวฟัน แนะนำให้ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารลดการเสียวฟัน ซึ่งจะระงับอาการได้เป็นครั้งคราว เมื่อฟันสึกลึกขึ้นอาจต้องทำการอุดหรือครอบฟัน แต่หากการสึกลึกถึงชั้นของโพรงประสาทฟัน ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาคลองรากฟัน เพื่อระงับอาการปวดก่อนการบูรณะฟันต่อไป
สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดการสึกกร่อนจนลุกลามมาถึงการเสียวฟันเป็นวิธีที่ดีที่สุด และควรไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพเหงือกและฟันทุก 6 เดือน หลังการกินผลไม้ หรืออาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด ควรบ้วนปากทันที แล้วรอ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงก่อน แปรงฟัน โดยเลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม จะช่วยลดการสึกกร่อนของฟันได้
ที่มา
● Kapook.com