คราบจุลินทรีย์ คืออะไร เราต้องมาทำความรู้จักอย่างจริงจัง เพื่อจะได้ดูแลป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ มีฟันผุ คราบจุลินทรีย์ หรือคราบพลัค มีลักษณะเหมือนแผ่นฟิล์มเหนียว ๆ ไร้สี เกาะเป็นแผ่นฟิล์มที่มีเชื้อโรคหลายชนิดรวมถึงเชื้อโรคที่ก่อฟันผุรวมตัวกันบนผิวฟัน และอยู่บริเวณขอบเหงือก (คอฟัน) เป็นคราบสีขาว-เหลือง
หากเชื้อโรคที่สัมผัสผิวฟันได้รับอาหาร อันได้แก่ แป้ง และน้ำตาล จะทำให้เชื้อโรคสร้างกรด ซึ่งสามารถทำลายฟันทำให้ผิวฟันสูญเสียแร่ธาตุ ถ้าฟันได้รับกรดตลอดเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุต่อเนื่อ งและมากพอที่ผิวฟันจะถูกทำลายจนเกิดเป็นรูฟันผุในที่สุด
หากอยากรู้ว่า ฟันมีคราบจุลินทรีย์ไหม ทำได้ง่าย ๆ โดยใช้หลอดดูดน้ำสีเข้ม ตัดปลายแฉลบ และมนปลายเล็กน้อยเขี่ยให้ครอบคลุมบริเวณโคนฟันและตัวฟัน หากพบว่า มีคราบสีขาวหรือเหลือง แปลว่า มีคราบจุลินทรีย์ ควรแปรงฟันทำความสะอาดซ้ำ
ยังมีวิธีสังเกตอีกว่า เป็นคราบจุลินทรีย์เก่าหรือใหม่ หากเป็นคราบใหม่ มักเป็นสีขาว บาง นิ่ม สามารถแปรงออกได้ง่าย แต่ถ้าเป็นคราบเก่า คราบจะหนา ซึ่งจะมีเชื้อโรคเกาะตัวหนาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกินอาหารที่มีน้ำตาลบ่อย ๆ เชื้อโรคจะเพิ่มขึ้นและสร้างสารคล้ายกาวทำให้การยึดเกาะของเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทำความสะอาดยากขึ้น ทำให้ฟันมีโอกาสผุได้มากขึ้น จึงต้องเพิ่มความถี่และเวลาในการแปรงฟันมากขึ้น
ป้องกันการเกิดฟันผุต้องให้ฟลูออไรด์ช่วย
ในการแปรงฟันนั้น จำเป็นต้องใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ร่วมด้วย เพราะการแปรงฟันช่วยในการลดเชื้อโรค ในขณะที่ฟลูออไรด์จะเป็นตัวเฝ้าระวังรอบ ๆ ผิวฟันไม่ให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุจากกรดของเชื้อโรคและเสริมความแข็งแรงให้กับตัวฟัน เพราะฟลูออไรด์จะเป็นตัวช่วยยับยั้งกลไกการนำน้ำตาลไปสร้างกรด
ดังนั้น การแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อย 1,000 ppm อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง จึงเป็นวิธีการที่ช่วยป้องกันฟันผุได้ เพราะเป็นการกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค และช่วยปรับสมดุลการสร้างและสลายแร่ธาตุบนผิวฟันอีกด้วย
ที่มา
● Kapook.com